Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เปิดเหตุผลที่ทำให้ลูกได้คะแนนภาษาไทยน้อย พร้อมวิธีการแก้ไข

Posted By Plook TCAS | 13 ม.ค. 66
1,954 Views

  Favorite

          ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ เป็นวัฒนธรรมของชาติเรา เป็นเอกลักษณ์ที่แสดงถึงเอกภาพของคนในชาติก็ว่าได้ และที่สำคัญเป็นเครื่องมือในการศึกษาหาความรู้อีกด้วย แต่ปัจจุบันหลายคนมีความกังวลว่า ลูกประถมปลายใช้ภาษาไทยได้น้อยลง ใช้ผิดมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีการปรับหลักสูตร การศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กลุ่มสาระ การเรียนรู้ภาษาไทย ที่ได้กำหนดสาระและมาตรฐานการเรียนรู้คุณภาพของผู้เรียนในกลุ่มสาระการ เรียนรู้ภาษาไทยไว้ 5 สาระ ได้แก่ สาระที่ 1) การอ่าน สาระที่ 2) การเขียน สาระที่ 3) การฟัง การดูและการพูด สาระที่ 4) หลักการใช้ภาษาไทย และสาระที่ 5) วรรณคดีและวรรณกรรม โดยสาระ ที่ 4 หลักการใช้ภาษาไทยมีบทบาทสำคัญที่จะส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนให้ใช้ภาษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ (หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้น พื้นฐาน) แต่เด็ก ๆ ของเราก็ยังมีปัญหาเรื่องภาษาไทยอยู่ ลองมาดูสาเหตุและวิธีแก้กัน

 

เคาะให้ได้ว่าลูกอ่อนเรื่องอะไร

          คงมีหลายทักษะภาษาไทยที่ลูกควรได้รับการดูแล แต่คุณต้องรู้แน่ชัดว่ามันคืออะไร เพื่อให้สามารถจัดกิจกรรมส่งเสริมลูกได้ถูก เช่น สื่อความหมายไม่ได้ สะกดไม่ถูก ไม่มีความสุขในการเรียน ไม่เข้าใจคำบุพบท ไม่เข้าใจหน้าที่ของคำในประโยค หรือ ฟัง พูด อ่าน เขียนไม่ถูกต้อง ทั้งหมดล้วนเกิดจากประสบการณ์การใช้ภาษาไทยที่ไม่ถูก จึงทำให้ลูกขาดทักษะในการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ และแก้ปัญหา และจากรายงานการวิจัยพบว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลายจะขาดทักษะในการใช้คำบุพบทในการเขียนเรียบเรียงเรื่องราวอยู่เยอะมาก บางคนใช้คำผิด คำฟุ่มเฟือย วางคำผิดตำแหน่ง ความหมายไม่ตรงกับที่จะสื่อ หรือความหลายกำกวม

 

เขียนเรียบเรียงเรื่องราวไม่ได้

          คงเพราะคิดว่าภาษาไทยง่าย เลยไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไรนัก และที่สำคัญการสอนของครูอาจเน้นหนักไปที่การบรรยาย พูด พูด พูด พูด เสียมากกว่า หรือไม่ก็ให้ท่องจำ จึงทำให้เด็กเบื่อ ไม่สนใจเรียน                       และอีกอย่างที่คุณควรต้องรู้ไว้คือ ภาษาไทยเป็นวิชาที่เนื้อหาเยอะและยากสำหรับผู้เรียนที่ไม่ชอบวิชานี้ พอไม่ชอบก็จะทำให้ลูกขาดทักษะการเรียนรู้และคิดวิเคราะห์ ไปเลย วิธีแก้คือ ผู้ปกครองควรให้เวลากับลูกในช่วงกลับบ้านมาเจอกัน ฝึกให้เขาได้เขียนบันทึก เรียบเรียงเรื่องราวที่เจอในแต่ละวันดู เพื่อแก้ปัญหาการสอนของครูที่ยังยึดติดแบบเดิม ๆ อยู่ เอาน่า ลองเป็นครูให้ลูกดู อย่าทิ้งเขาไว้อยู่กับครูที่โรงเรียนเพียงคนเดียวเลย

 

วิชานี้ต้องใช้กิจกรรมเชิงรุก

          ถ้าหากวิชาภาษาไทยมีการจัดกิจกรรมเชิงรุกจะทำให้ลูกของคุณได้ประโยชน์อย่างมาก เพราะการจัดกิจกรรมเชิงรุกเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้การเรียนรู้ของลูกคุณมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับแนวทางการจัดการศึกษาในยุคไทยแลนด์ 4.0 การจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนในยุคไทยแลนด์ 4.0 ว่าต้องทำให้เด็ก ๆ แต่ละคนไม่อยู่นิ่ง คิดค้นหาความรู้และคำตอบอยู่เสมอและเน้นการปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี การจัดกิจกรรมเชิงรุกเน้นกิจกรรมควบคู่กับการปฏิบัติ โดยให้เด็ก ๆ แต่ละคน แสดงความถนัด ความสนใจ ปรับพฤติกรรมของลูก ๆ ให้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม มีการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ มีทักษะการทำงานเป็นทีม ระดมสมอง ทำกิจกรรม เคลื่อนไหวร่างกาย เล่นเกมเรียนรู้อย่างสนุกสนานขณะทำกิจกรรม ซึ่งจะทำให้เด็กประถมปลายเกิดการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในระดับสูงขึ้น แต่หากในรายวิชานี้ยังไม่มีการจัดการเรียนการสอนแบบนี้ แต่ยังเน้นการบรรยายแบบเก่า ๆ ก็ไม่แปลกที่ลูกคุณจะมีปัญหาในการเรียนวิชาภาษาไทย

 

ขาดรูปแบบการเรียนการสอนแบบปนเล่น

          การเรียนปนเล่นเป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดการสร้างสรรค์ทางปัญญา (Constructivism) ที่เน้นวิธีการมากกว่าเนื้อหาวิชา เพื่อช่วยให้เด็กประถมปลายสามารถเชื่อมโยงความรู้ หรือสร้างความรู้ให้เกิดขึ้นในตนเอง ด้วยการลงมือปฏิบัติจริงผ่านสื่อหรือกิจกรรมการเรียนรู้ ที่มีครูผู้สอนเป็นเหมือนโค้ชผู้แนะนำ กระตุ้นหรือ อำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ขึ้น หากสอบถามลูกแล้วยังไม่มีการจัดการเรียนการสอนแบบนี้ คุณลุยเองเลย สอนแบบปนเล่น เอาเกมเข้ามาช่วยเพิ่มทักษะที่ลูกคุณขาดอยู่ก็ได้ เช่น เกมจับเวลาเล่าเรื่องชิงช็อคโกแลตหรือเกมเศรษฐีจับคำผิด หากคุณบอกว่าไม่มีเกมในหัวเลยทำไงดี ถ้าอย่างนั้นถามกูเกิ้ลเลยจ้า มีเพียบ…

 

คุณคือโค้ช

          ลองทำตัวเองให้เป็นโค้ชของลูกดู การเป็นโค้ชคือเทคนิคที่ดีมาก ลูกจะเก่งภาษาไทยถ้าคุณเปิดใจใช้เทคนิคนี้ทุกวันและทุกเวลา การโค้ช คือการที่คุณทำหน้าที่ช่วยเหลือ ชวนคิด สร้างบรรยากาศทางบวก เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ ลงมือทำ อันมาจากความคิด ความถนัด ความสามารถของตัวเอง โดยจะต้องออกแบบกิจกรรมที่เน้นการปฏิบัติ มีคุณทำหน้าที่เป็นโค้ชของลูก โดยใช้วิธีการสร้างกระบวนการทางความคิด โดยมี 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นนำเข้าสู่ บทเรียน ขั้นสร้างคำถาม ขั้นลงมือปฏิบัติ ขั้นแลกเปลี่ยนประสบการณ์และขั้นสรุปองค์ความรู้ร่วมกัน ดังนั้นไม่ว่าคุณจะสอนอะไรเกี่ยวกับภาษาไทย หรือแม้แต่วิชาไหน ๆ การเป็นโค้ชของลูก ไม่ใช่การสั่งการ จะช่วยทำให้ลูกเก่งได้ด้วยตัวเอง

 

            ดังนั้นหากรู้แล้วว่าลูกคุณอ่อนเรื่องอะไร ลองลุย !! และคุยภาษาไทยไปพร้อม ๆ กับลูกดูนะ

 

ปริณุต ไชยนิชย์

อาจารย์ประจำสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (RMUTSB : RUS)

 

ข้อมูลอ้างอิงจากงานวิจัย https://so06.tci-thaijo.org/index.php/apheit-ss/article/download/241701/164593/839618

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow